การล้นไหลของเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศและบทบาทของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินสหรัฐอเมริกาต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย บราซิล และอินเดีย
สราวุฒิ มีพรสวรรค์ และเริงชัย ตันสุชาติ
ในปีค.ศ. 2008 นโยบายการเงินแบบปกติไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงต้องออกมาใช้นโยบายการเงินไม่ปกติที่เรียกว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) แต่ถึงกระนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่มีทีท่าฟื้นตัวและยังคงใช้นโยบายดังกล่าวอยู่เป็นระยะๆ ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีและมีอัตราผลตอบแทนในการลงทุนสูงกว่า ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของกระแสเงินทุนไหลเข้าต่อตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไทย บราซิล และอินเดีย โดยระยะเวลาศึกษาจะครอบคลุมในช่วงที่สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้นโยบาย QE ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 2008 ถึงช่วงปี ค.ศ. 2013 โดยใช้แนวคิดของแบบจำลองสลับสับเปลี่ยนในกลุ่มมาร์คอฟเวกเตอร์ออโต้รีเกรสซีพมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จากผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงในอัตราการเติบโตของเงินทุนไหลเข้าในหลักทรัพย์และเงินทุนไหลเข้าโดยตรงจากต่างประเทศทั้งในสถานะขยายตัว (อาณาเขตที่ 1) และสถานะชะลอตัว (อาณาเขตที่ 2) มีผลต่อทิศทางของอัตราการเติบโตของกลุ่มตลาดทุน กลุ่มอัตราดอกเบี้ย กลุ่มอัตราแลกเปลี่ยน กลุ่มการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มการผลิต และกลุ่มดัชนีราคา ในทิศทางที่แตกต่างกัน ซึ่งถูกอธิบายได้ด้วยผลของค่าพจน์ค่าคงที่ที่ขึ้นอยู่กับสถานะ อีกทั้งความสัมพันธ์ร่วมระหว่างตัวแปรสามารถอธิบายได้ด้วยพารามิเตอร์ถดถอยในตัวเองที่ไม่ขึ้นอยู่กับสถานะ นอกจากนี้ การตอบสนองของอัตราการเติบโตของตัวแปรต่างๆ ที่เกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ในอัตราการเติบโตของเงินทุนไหลเข้าในหลักทรัพย์จากต่างประเทศ และเงินทุนไหลเข้าโดยตรงจากต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะสร้างความผันผวนขึ้นและมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปกติในระยะเวลาอันสั้นไม่เกิน 6 เดือน และมีเพียงบางตัวแปรที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปกติโดยใช้ระยะเวลายาวนาน
คำสำคัญ: กระแสเงินทุนไหลเข้า, มาตรการ QE สหรัฐฯ, ตัวแปรเศรษฐกิจมหภาค, มาร์คอฟสวิสชิ่งวาร์
จำนวนผู้เข้าชมบทคัดย่อ 4820 ครั้ง จำนวนดาวน์โหลดเรื่องเต็ม 3206 ครั้ง
|