มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของสัตว์น้ำวัยอ่อน จากการทำประมงปลากะตัก
ทิพรัตน์ พงศ์ธนาพาณิช
การทำประมงปลากะตักโดยใช้แสงไฟประกอบถูกกล่าวอ้างว่าเป็นวิธีทำประมงที่ทำให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนชนิดอื่นๆ ติดปนมามากกว่าการทำประมงปลากะตักที่ไม่ใช้แสงไฟประกอบ ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านสูญเสียรายได้จากการจับสัตว์น้ำ การศึกษาครั้งนี้มุ่งเพื่อให้ทราบลักษณะองค์ประกอบสัตว์น้ำจากการทำประมงปลากะตัก และประเมินมูลค่าความสูญเสียสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนที่ปนมากับการทำประมงปลากะตักจากเครื่องมือจับประเภทต่างๆ ได้แก่ เรืออวนครอบปั่นไฟ เรืออวนช้อนปั่นไฟ เรืออวนล้อมกลางวันและเรืออวนล้อมปั่นไฟ โดยใช้ข้อมูลองค์ประกอบสัตว์น้ำจากการทำประมงปลากะตัก จำแนกตามพื้นที่จังหวัด อำเภอ เดือนที่จับ ระยะห่างฝั่ง และความลึกน้ำระดับต่างๆ ซึ่งสำรวจระหว่าง พ.ศ. 2535-2542 โดยกรมประมง ซึ่งรวบรวมได้ 40 กรณีศึกษา มาทำการประเมินมูลค่าความสูญเสียด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า สัดส่วนสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ปนมากับการทำประมงปลากะตักมีค่าระหว่างร้อยละ 1.72 ถึง 30.37 ของสัตว์น้ำทั้งหมดที่จับได้ (รวมปลากะตัก) กรณีศึกษาที่อัตราการจับ (กิโลกรัม/ลำ/วัน) ต่ำ และมีสัดส่วน (ร้อยละ) สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ปนมาต่ำเป็นกรณีที่มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงสุดเนื่องด้วยมีชนิดสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงติดปนมา อาทิ ลูกปลาอินทรีบั้งพบว่ามีสัดส่วนปนมาเพียงร้อยละ 0.03 ถึง 0.33 แต่คิดเป็นมูลค่าสูญเสียต่อลำเรือประมงกะตักต่อวันสูงกว่ามูลค่าสูญเสียของสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่น คือ ตั้งแต่ 786 ถึง 12,359 บาท/ลำ/วัน ขณะที่ลูกปลาหลังเขียวมีสัดส่วนปนมาสูงสุดระหว่างร้อยละ 0.36 ถึง 25.27 แต่มีมูลค่าความสูญเสีย 2 ถึง 3,047 บาท/ลำ/วัน เท่านั้น
คำสำคัญ: -
จำนวนผู้เข้าชมบทคัดย่อ 4671 ครั้ง จำนวนดาวน์โหลดเรื่องเต็ม 3510 ครั้ง
|