การใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
แนวคิดของการใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้เสริมประกอบกับมาตรการบังคับและควบคุมซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมาย ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานและประชาชน เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เป็นการกำหนดมาตรการและระบบแรงจูงใจเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรการด้านราคา มาตรการภาษี มาตรการด้านตลาด มาตรการด้านสินเชื่อและสิทธิประโยชน์ มาตรการการให้ใบอนุญาตที่ถ่ายโอนได้ในการปล่อยมลพิษ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มีทั้งมาตรการทางบวกและทางลบ เช่น การลดต้นทุนการผลิตที่ไม่มีผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การให้รางวัลแก่หน่วยงานที่ทำคุณต่อสิ่งแวดล้อม หรือการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม
เป็นต้น เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้อยู่ได้แก่ การลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรที่รักษาสิ่งแวดล้อม การกำหนดอัตราภาษีที่ต่างกันระหว่างน้ำมันที่มีสารตะกั่วและน้ำมันไร้สารตะกั่ว การเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดมูลฝอยหรือค่าบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น การออกแบบเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม ควรมีเกณฑ์พิจารณาได้แก่ การยอมรับของสังคม ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก ภาระทางการคลังของรัฐ เป้าหมายของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้หลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน
คำสำคัญ: -
จำนวนผู้เข้าชมบทคัดย่อ 7177 ครั้ง จำนวนดาวน์โหลดเรื่องเต็ม 3285 ครั้ง
|