การย้ายถิ่นเข้า: ปัจจัยที่กำหนดและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สุมาลี สันติพลวุฒิ
การศึกษาเกี่ยวกับการย้ายถิ่นในระดับมหภาค สามารถพิจารณาตามแบบจำลองพื้นฐานได้ 2 ลักษณะ กล่าวคือ แบบจำลองลักษณะแรก เรียกว่า active model เป็นการพิจารณาที่มีสมมุติฐานว่าการย้ายถิ่นเป็นการติดสินใจที่มีเหตุมีผลเพื่อที่จะเสาะแสวงหาที่อยู่อาศัยหรือเพื่อการทำงานที่ดีกว่าเดิม การพิจารณาตามลักษณะแบบจำลองนี้จึงมักพบว่านักวิเคราะห์การย้ายถิ่นส่วนใหญ่มีความเห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจคือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการย้ายถิ่น โดยผู้ย้ายถิ่นจะย้ายจากพื้นที่ที่มีความยากจนไปสู่พื้นที่ที่มีโอกาสมากกว่าดังเช่นที่ระบุไว้ในกฎแห่งการย้ายถิ่นของ Revennstein (1885: 167-227) หรือตามที่ Todaro (1971: 387-414) ได้ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างของรายได้ระหว่างชนบทและในเมืองคือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จูงใจให้มีการย้ายถิ่น สำหรับแบบจำลองลักษณะที่สองเรียกว่า passive model เป็นการพิจารณาว่าการย้ายถิ่นเป็นผลพวงของการตอบสนองต่อเงื่อนไขที่ผลักดันให้มีการย้ายถิ่น โดยที่ผู้ย้ายถิ่นอาจมิได้ทำการเปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ อย่างสมเหตุสมผล ดังเช่นที่ Everett Lee (1969: 285-296) ผู้ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยทางสังคมในท้องถิ่นต้นทาง (area of origin) และในท้องถิ่นปลายทาง (area of destination) อาจมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จูงใจหรือผลักดันให้เกิดการย้ายถิ่นขึ้น อันเป็นที่มาของการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยผลัก-ดึงดูด (push-pull factors) การย้ายถิ่นซึ่งแพร่หลายต่อมา อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์การย้ายถิ่นในระดับมหภาคในทางปฏิบัติโดยทั่วไปมีการผสมผสานแบบจำลองทั้งสองลักษณะเข้าด้วยกัน โดยการพิจารณาปัจจัยที่กำหนดการย้ายถิ่นออกอย่างน้อยสามกลุ่ม คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางประชากรและปัจจัยทางสังคม (สุวัลลีย์, 2541: 9-17) ในบทความนี้ได้ประยุกต์กรอบการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้เป็นแนวทางในการศึกษาปัจจัยที่กำหนดการย้ายถิ่นเข้าจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย พร้อมทั้งวิเคราะห์แบบจำลองปัจจัยที่กำหนดการย้ายถิ่นเข้าแล้ว โดยมีข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการย้ายถิ่นเข้าในประเทศไทย ประกอบกับข้อจำกัดทางด้านข้อมูลในระดับมหภาค จึงได้กำหนดขอบเขตของการศึกษาถึงผลกระทบของการย้ายถิ่นเข้าไว้ที่ผลที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เนื่องจากลักษณะของปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตไม่ว่าจะเป็นสาขาเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมจะมีผลอย่างสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
Keywords: -
View Abstract 5658 Hit(s) Download Fulltext 3695 Hit(s)
|