ระดับการพัฒนารายภาคของประเทศไทย 2520-2537
อมรทิพย์ แท้เที่ยงธรรม
การศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาเป็นสาขาวิชาทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีเนื้อหากว้างขวางมากสาขาหนึ่ง โดยได้มีการทำการศึกษากันอย่างเป็นระบบระเบียบเด่นชัดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา (Streeten, 1979) เศรษฐศาสตร์การพัฒนานอกจากจะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรที่หายากไปในการผลิตสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนกลไกทางเศรษฐกิจ สังคม และสถาบันทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อที่จะทำให้ประชาชนในประเทศมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ทุกๆ ประเทศในโลกต่างพยายามที่จะพัฒนาประเทศของตนเองเพื่อที่จะให้ได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คำถามที่น่าสนใจก็คือ อะไรที่เป็นเครื่องชี้บ่งว่าประเทศได้ก้าวไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ได้มีการให้ความหมายคำว่า การพัฒนา ไว้ว่า หมายถึงสมรรถภาพของระบบเศรษฐกิจในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 5-7 (หรือมากกว่า) ต่อปี แม้แต่องค์การสหประชาชาติเองก็ได้ให้นิยามคำว่าการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงได้มีการใช้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องตนหรือผลิตภัณฑ์ประชาชาติเฉลี่ยต่อบุคคลเป็นตัวชี้ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าในขณะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจหมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั่นเอง
Keywords: -
View Abstract 3562 Hit(s) Download Fulltext 2127 Hit(s)
|